เมนู

5. ปฐมอาชานียสูตร



ว่าด้วยองค์ 3 ของม้าต้นและของภิกษุ



[536] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวประเสริฐของพระ-
ราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ 3 จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น
เท่ากับว่า เป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว องค์ 3 คืออะไร คือสีงาม 1
กำลังดี 1 มีฝีเท้า 1 ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อม
ด้วยองค์ 3 นี้แล จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชาเป็นม้าต้น เท่ากับว่าเป็น
องคาพยพของพระราชาทีเดียว
ฉันเดียวกันนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ 3
จึงเป็น (อาหุเนยฺโย) ผู้ควรของคำนับ (ปาหุเนยฺโย) ผู้ควรของต้อนรับ
(ทกฺขิเณยฺโย) ผู้ควรของทำบุญ (อญฺชลิกฺรณีโย) ผู้ควรทำอัญชลี (อนุตฺตรํ
ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส) เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า องค์ 3
คืออะไร คือวรรณะงาม 1 เข้มแข็ง 1 มีเชาว์ 1
ภิกษุวรรณะงาม เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล
สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เห็นภัยในโทษ
มาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุ
วรรณะงาม

ภิกษุเข้มแข็ง เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำความเพียร
เพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม แข็งขันบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระใน
กุศลธรรมทั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุเข้มแข็ง

ภิกษุมีเชาว์ เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้ทั่วถึงตาม
จริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้ เรียกว่า ภิกษุมีเชาว์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ 3 นี้แล จึงเป็นผู้ควร
ของคำนับ ฯลฯ ไม่มีนาบุญอันยิ่งกว่า.
จบปฐมอาชานียสูตรที่ 5

อรรถกถาปฐมอาชานียสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาชานียสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้;-
บทว่า องฺเคหิ คือ ด้วยองค์คุณทั้งหลาย. บทว่า ราชารโห
คือ (ม้าอาชาไนย) สมควร คือ เหมาะสมแก่พระราชา. บทว่า ราชโภคฺโค
คือ เป็นม้าต้นของพระราชา. บทว่า รญฺโญ องฺคํ ได้แก่ ถึงการนับว่า
เป็นอังคาพยพของพระราชา เพราะมีเท้าหน้าและเท้าหลังเป็นต้น สมส่วน.
บทว่า วณฺณสมปนฺโน ได้แก่ถึงพร้อมด้วยสีร่างกาย. บทว่า พลสมฺปนฺโน
ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ เพียบพร้อม
ด้วยพลังความเร็ว.
บทว่า อาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรรับบิณฑบาต กล่าวคือ
ของที่เขานำมาบูชา. บทว่า ปาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควร (ที่จะรับ)
ภัตรที่จัดไว้ต้อนรับแขก. บทว่า ทกฺขิเณยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่
ทักษิณา กล่าวคือของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ด้วยอำนาจสละทานวัตถุ 10 อย่าง.
บทว่า อญฺชลิกรณีโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่การประคองอัญชลี. บทว่า
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ได้แก่ เป็นสถานที่งอกงามแห่งบุญของ
ชาวโลกทั้งหมด ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน.